Producer Price Index (PPI) คืออะไร ? สำคัญกับตลาด Forex อย่างไร ?
Table of Contents
อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมาจากอะไร ทุกท่านเคยสงสัยหรือไม่ ? แล้วอะไรที่ใช้วัดเงินเฟ้อบ้าง วันนี้ทีมงาน Forexlearning จะพาทุกท่านไปรู้จักดัชนีราคาผู้ผลิต หรือ PPI ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อ รวมถึงความสำคัญของตัวเลข PPI ต่อตลาด Forex กันครับ
Producer Price Index (PPI) หรือดัชนีราคาผู้ผลิต คืออะไร?
Producer Price Index (PPI) หรือดัชนีราคาผู้ผลิต คือ รายงานที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ (Bureau of Labor Statistics: BLS) เพื่อคํานวณการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าที่ขายโดยผู้ผลิตในช่วงเวลาหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า เป็นรายงานบันทึกความผันผวนของราคาสินค้าในระดับผู้ผลิตที่บ่งชี้ถึงภาวะเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจ
ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตที่ไม่รวมอาหาร และพลังงาน เรียกว่า Core PPI ซึ่งได้รับความสนใจมากกว่าดัชนี PPI เพราะมีผลกับอัตราเงินเฟ้อโดยตรง ไม่มีส่วนเบี่ยงเบนต่าง ๆ
ความสำคัญของ PPI
ความสำคัญของดัชนีราคาผู้ผลิต คือ การเป็นเครื่องมือช่วยประเมินอัตราเงินเฟ้อในระดับผู้ผลิต โดยเฉพาะในระดับอุตสาหกรรมหรือผลิตภัณฑ์ เปรียบเทียบเป็นรายปี และรายเดือน ซึ่งสามารถเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลในอนาคต
นอกจากนี้ ยังช่วยปรับมูลค่าการผลิต มูลค่าเพิ่ม และ ค่าใช้จ่ายขั้นกลางจากราคาปัจจุบันเป็นราคาคงที่ หรือราคา ณ ปีฐาน เพื่อใช้วัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของเศรษฐกิจที่เป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ทั้งภาวะเงินเฟ้อจากฝั่งผู้ผลิต ภาวะการค้าของประเทศ งบประมาณรายจ่าย และ นโยบายทางการเงิน นโยบายการผลิต และตลาด และ การปรับสัญญาซื้อขายในระยะยาว
อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมีผลอย่างไร? เป็นที่ทราบกันดีว่า ระดับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอาจจะทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลต่อธุรกรรม และ การลงทุนทั้งหมด ดังนั้น นักลงทุน ผู้กู้ยืมเงิน และ ผู้ทำการค้าระหว่างประเทศจึงมักจะติดตามรายงานเหล่านี้อยู่เสมอ
การจำแนกประเภทของราคาใน PPI
PPI สามารถจัดประเภทการเปลี่ยนแปลงราคาตามโครงสร้างใหญ่ ๆ ได้ 3 โครงสร้าง ได้แก่
1) การจำแนกประเภทระดับอุตสาหกรรม
2) การจำแนกประเภทสินค้า
3) การจำแนกประเภทความต้องการขั้นสุดท้าย – ความต้องการขั้นกลาง (FD-ID)
ความแตกต่างระหว่าง PPI กับ CPI
แม้ว่าดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) กับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะสามารถชี้ให้เห็นถึงระดับเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจเหมือนกัน แต่ทั้ง 2 ดัชนีนี้ก็มีความแตกต่างกัน คือ PPI จะเป็นเครื่องมือที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้า และ บริการจากฝั่งผู้ผลิต ซึ่งตัวเลข PPI จะสามารถวัดการเปลี่ยนแปลงของราคาก่อนที่ผู้บริโภคจะซื้อสินค้า และ บริการขั้นสุดท้าย ขณะที่ CPI เป็นเครื่องมือที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้า และ บริการจากฝั่งผู้บริโภคเท่านั้น
การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า และ บริการจากทั้ง 2 ฝั่งนี้ต่างกันอย่างไร? กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงที่มาจากผู้ผลิตจะกระทบมาตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตทั้งหมด ตลอดจนผู้บริโภค เรียกว่า กระทบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่มาจากผู้บริโภคจะกระทบต่อการจับจ่ายของประชาชนเป็นหลัก ดังนั้น หากตัวเลข PPI สูงขึ้น ตัวเลข CPI ก็มักจะมีการปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน
ความสัมพันธ์ของ PPI กับตลาด Forex
ตัวเลข PPI สำคัญกับตลาด Forex อย่างไร? ทำไมเทรดเดอร์ถึงควรติดตามการรายงาน? นั่นก็เพราะว่าเทรดเดอร์สามารถใช้ PPI เป็นตัวบ่งชี้ในการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่มาจากฝั่งผู้บริโภค (CPI) ซึ่งตัวเลขทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อค่าเงิน โดยตัวเลขที่ออกมาสูงกว่าที่คาด จะสื่อถึงลักษณะเชิงบวก/ตลาดกระทิงสำหรับสกุลเงินดอลลาร์ ขณะที่ตัวเลขที่ออกมาต่ำกว่าที่คาด จะหมายถึงลักษณะเชิงลบ/ตลาดหมีสำหรับสกุลเงินดอลลาร์ เป็นต้น
สรุป
โดยสรุปแล้ว ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ก็คือหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อที่มาจากฝั่งผู้ผลิต แต่ส่งผลกระทบไปทุกระดับ ทั้งผู้ผลิตเอง ผู้ขนส่ง จนถึงผู้บริโภค อีกทั้ง ยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจด้วย ดังนั้น ทุกคนจึงควรติดตามรายงานเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเทรดเดอร์ที่เทรดค่าเงิน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับตัวของตัวเลขเหล่านี้โดยตรง
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ :
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน : Fundamental Analysis คืออะไร ?