อ่านกราฟเก่งแค่ไหนก็ไม่กำไร ถ้าไม่มี Money Management
Table of Contents
ผมเชื่อว่าเพื่อน ๆ หลายคนคงเคยได้ยินคำที่นักเทคนิคที่มีประสบการณ์มักจะพูดแนะนำอยู่บ่อย ๆ คือ
“ถึงแม้จะอ่านกราฟหรือวิเคราะห์ทิศทางราคาได้เก่งขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าไม่รู้จักบริหารเงินลงทุน (Money Management) ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จในการเทรด”
ยิ่งเป็นใครที่เทรดอนุพันธ์ (Derivatives) พวกฟิวเจอaร์ส (Futures) อย่างเช่น SET50 Index Futures, Gold Futures หรือ Single Stock Futures ใน TFEX หรือสินค้าที่มี Leverage สูงอย่างพวก FOREX คำแนะนำที่บอกให้เราต้องบริหารเงินลงทุนก็ยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะการเทรดอนุพันธ์นั้นใช้กลไกการวางเงินประกันแทนการจ่ายเงินเต็มจำนวน ทำให้มีอัตราเพิ่มของเงิน (Leverage) ซึ่งทำให้เกิดผลกำไร และขาดทุนจากการเทรดได้เร็วกว่าการเทรดหุ้นหลายเท่า
รู้หรือไม่ คนส่วนใหญ่ไม่เคยสนใจ Money Management
จากประสบการณ์ที่ผมได้ให้คำแนะนำกับนักลงทุนจำนวนมาก พบว่านักลงทุนที่สนใจเกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคส่วนใหญ่เวลาตัดสินใจเทรดหุ้นหรืออนุพันธ์ มักจะให้ความสำคัญกับการอ่านกราฟราคา กราฟ Volume หรือวิเคราะห์ Indicators เพื่อให้ได้คำตอบเพียงว่า
- จะลงมือเทรดหุ้นหรืออนุพันธ์อ้างอิงกับสินค้าตัวไหนดี หรือมีตัวไหนบ้างที่น่าสนใจเทรด
- หุ้นหรืออนุพันธ์ตัวที่กำลังสนใจอยู่ราคาน่าจะปรับตัวขึ้นหรือลงในอนาคต
- ปัจจุบันเป็นจังหวะที่น่าสนใจหรือเปล่า
- ถ้าตอนนี้เป็นจังหวะที่น่าสนใจ สามารถลงมือเทรดได้เลยหรือไม่
ซึ่งจะเห็นได้ว่าคำตอบเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารเงินลงทุนที่เป็นปัจจัยสำคัญของการประสบความสำเร็จในการลงทุนเลย แต่จะเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการวิเคราะห์ทางเทคนิคเพื่อหาสัญญาณในการลงมือเทรดมากกว่า
6 ประเด็นสำคัญ เกี่ยวกับ Money Management
ความสำคัญของ Money Management จะเป็นขั้นตอนถัดไปหลังจากที่เราได้คำตอบเบื้องต้นว่าหุ้นหรืออนุพันธ์ตัวไหนบ้างที่น่าสนใจ และได้ข้อสรุปจากการวิเคราะห์กราฟแล้วว่าปัจจุบันเป็นจังหวะที่ดีในการลงมือ ซึ่งประเด็นสำคัญที่จะพิจารณาเกี่ยวกับ Money Management ได้แก่
- ลำดับความน่าสนใจของหุ้นหรืออนุพันธ์แต่ละตัว เช่น ถ้ามีหุ้นหรืออนุพันธ์ที่น่าสนใจเทรดเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน หลายตัว แล้วตัวไหนหล่ะมีความน่าสนใจในการเทรดมากกว่าตัวอื่น ๆ
- ความคุ้มค่าในการลงมือแต่ละครั้ง โดยเปรียบเทียบระหว่างผลตอบแทนที่จะได้รับกรณีถ้าผลการเทรดเป็นไปตามที่คาดแล้วออกมาเป็นกำไรกับผลขาดทุนที่จะต้องเสียไปถ้าผลการเทรดไม่เป็นไปตามที่คาดแล้วออกมาเป็นขาดทุนว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่
- ความเสี่ยง และโอกาสในการลงทุน ซึ่งจะวิเคราะห์ว่าการเทรดหุ้นหรืออนุพันธ์ในแต่ละครั้งจะเสี่ยงขาดทุนด้วยเงินจำนวนเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบร้ายแรงกับเงินลงทุนในกรณีที่ผลการเทรดออกมาเป็นขาดทุน และควรจัดสรรเงินต้นที่จะใช้ในการเทรดแต่ละครั้งไม่เกินเท่าไหร่เพื่อให้มีเงินลงทุนพร้อมรับโอกาสอื่น ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต
- แผนรับมือกรณีที่จะเกิดขึ้นหลังจากลงมือเทรดไปแล้วในครั้งนั้น ๆ โดยหลังจากที่ลงมือซื้อหรือขายไปแล้วถ้าราคาหุ้นหรืออนุพันธ์เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่วิเคราะห์ไว้เกิดผลเป็นกำไร จะมีแผนในการทำกำไรอย่างไร แต่ถ้าราคาหุ้นหรืออนุพันธ์ไม่เป็นไปตามที่วิเคราะห์ไว้เกิดผลขาดทุนจะมีแผนรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างไร
- วางแผนการบริหารความเสี่ยงในการเทรดแบบต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการกำหนดแนวทางในการบริหารความเสี่ยง และโอกาสในการลงทุนครั้งถัดไป โดยการกำหนดว่าถ้าผลการเทรดครั้งนี้ออกมาเป็นกำไรในการเทรดครั้งถัดไปจะทำอย่างไร หรือถ้าผลการเทรดครั้งนี้ออกมาเป็นขาดทุนในการเทรดครั้งถัดไปจะทำอย่าไร เป็นต้น
- ทบทวนแผนการบริหารเงินลงทุน เมื่อผ่านการเทรดไปสักระยะหนึ่งควรนำผลการเทรดที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงหรือแนวทางในการบริหารเงินลงทุนในอนาคตให้ดีขึ้น
ที่มาของ Money Management
สาเหตุที่ทำให้การบริหารเงินลงทุนเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เนื่องจากมีความจริงเหล่านี้ผู้ลงทุนทุกคนเวลาเทรดหุ้นหรืออนุพันธ์ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่หลีกหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ
- ไม่มีใครสามารถรู้ผลการเทรดล่วงหน้า ว่าผลการเทรดในแต่ละครั้ง ครั้งไหนจะมีผลออกมาเป็นกำไร หรือครั้งไหนจะมีผลออกมาเป็นขาดทุน แต่ผู้ลงทุนทุกคนจะต้องพบกับครั้งที่ผลการเทรดออกมาเป็นขาดทุนอย่างแน่นอน ไม่มีใครที่จะสามารถเทรดหุ้นหรืออนุพันธ์แล้วทำกำไรได้ทุกครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นอาจมีบางช่วงเวลาที่ผลการเทรดออกมาเป็นขาดทุนติดต่อกันหลายครั้งอีกด้วย
- ไม่รู้ล่วงหน้าว่าจังหวะลงมือเทรดในแต่ละครั้งจะเป็นจังหวะที่ดีมากหรือดีน้อย เราไม่รู้ว่าการเทรดหุ้นหรืออนุพันธ์ตัวไหนจะให้ผลดีกว่าตัวอื่น เราไม่รู้ล่วงหน้าว่าราคาสินค้าตัวไหนราคาจะขยับช้าหรือเร็ว ไม่รู้ว่าการเทรดในแต่ละครั้งจะใช้เวลานานเท่าไหร่ ไม่รู้ล่วงหน้าในการตัดสินใจลงมือเทรดแต่ละครั้งว่าผลที่เกิดขึ้นถ้าเป็นกำไรจะทำให้ได้กำไรมากหรือน้อย แต่สำหรับผลขาดทุนสูงสุดในแต่ละครั้งควรถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าด้วย กลยุทธ์ของการ Stop Loss ตามหลักของการบริหารเงินลงทุน
- เงินทุนมีจำกัด แต่โอกาสในการเทรดหุ้นหรืออนุพันธ์จะมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถเทรดได้ทุกโอกาสที่เข้ามา
วัตถุประสงค์ของ Money Management
เนื่องจากผู้ที่ลงทุนในหุ้นหรืออนุพันธ์จะต้องพบกับข้อจำกัด และความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้แนวทางในการบริหารเงินลงทุนถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ดังนี้
- เพื่อจำกัดความเสี่ยงในการเทรดแต่ละครั้ง ควบคุมผลขาดทุนที่จะเกิดขึ้นไม่ให้ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อเงินลงทุนทั้งหมดที่มี โดยจะใช้วิธีกำหนดผลขาดทุนที่จะเกิดขึ้นสูงสุดในการเทรดแต่ละครั้ง เพราะถ้าการเทรดแต่ละครั้งเกิดผลขาดทุนมาก ๆ หรือมีผลขาดทุนติดต่อกันหลายครั้ง โอกาสที่จะได้ทุนคืนกลับมาก็ยิ่งยากมากขึ้น และโอกาสเทรดแล้วหมดตัวก็จะเพิ่มสูงขึ้น (ในตอนต่อ ๆ ไปผมจะแนะนำครับว่าในการเทรดแต่ละครั้งควรเสี่ยงครั้งละเท่าไหร่ เพราะอะไร)
- เพื่อกระจายความเสี่ยงในการเทรด โดยการวางแผนเทรดหุ้นหลายตัว หรืออนุพันธ์ที่อ้างอิงสินค้าหลากหลายประเภท และหลีกเลี่ยงการเทรดหุ้นหรืออนุพันธ์ที่อ้างอิงสินค้าที่มีความสัมพันธ์ของราคาที่ไปในทิศทางเดียวกัน (Correlation) เนื่องจากถ้าเราซื้อสินค้าที่ราคามีการปรับตัวขึ้นพร้อม ๆ กันหรือลงพร้อมๆ กันเสมอ ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระจายโอกาส และความเสี่ยง
- เพื่อกระจายโอกาสในการเทรด โดยจัดสรรเงินที่จะใช้ในการเทรดในแต่ละครั้ง ทำให้สามารถเทรดสินค้าได้หลายตัวในเวลาเดียวกัน หากมีโอกาสให้เทรดเข้ามาพร้อม ๆ กัน
จากที่มาของความจริงที่ต้องยอมรับในการเทรดหุ้นว่าเราไม่สามารถคาดเดาอะไรล่วงหน้าได้แม่นยำ 100% และมีเงินลงทุนที่จำกัด ทำให้การบริหารเงินลงทุน (Money Management) นั้นมีเป้าหมายหลักให้ผู้ลงทุนไม่ผูกติดผลการลงทุนไว้ที่การเทรดเพียงครั้งใดครั้งหนึ่ง และสามารถเทรดอนุพันธ์ได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว
ขั้นตอนในการทำ Money Management
หลังจากที่เราเข้าใจประเด็นสำคัญ ที่มา และวัตถุประสงค์ของ Money Management แล้วลำดับถัดมาผมจะแนะนำเกี่ยวกับ ขั้นตอนในการบริหารเงินลงทุนก่อนการตัดดสินใจลงมือเทรดหุ้นหรืออนุพันธ์ในแต่ละครั้ง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ขั้นตอน ได้แก่
- หลังจากได้สัญญาณให้เทรดแล้ว จะตัดสินใจลงมือเทรดหรือไม่
- ถ้าตัดสินใจลงมือเทรด จะกำหนดจำนวนเงินสูงสุดที่จะเสี่ยงขาดทุนในการเทรดแต่ละครั้งไว้เท่าไหร่
- จัดสรรเงินทุนที่ต้องใช้ในการเทรดในแต่ละครั้งเพื่อให้เทรดได้หลาย ๆ ตัว
- คำนวณจำนวนหุ้นหรือจำนวนสัญญาของอนุพันธ์ที่จะเทรดในแต่ละครั้ง
เราลองมาดูรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนกันครับว่ามีอะไรบ้าง
หมายเหตุ : ในบทความนี้จะเป็นขั้นตอนก่อนลงมือเทรดนะครับ ส่วนหลังลงมือเทรดไปแล้วก็จะมีหลักการบริหารเงินลงทุนด้วยเช่นเดียวกันแต่จะพูดถึงในบทความถัด ๆ ไป
ขั้นตอนที่1 : ตัดสินใจว่าจะลงมือเทรดหรือไม่
ถึงแม้การวิเคราะห์ข้อมูลจากกราฟราคา กราฟ Volume หรือ Indicators จะได้ข้อสรุปว่าปัจจุบันเป็นจังหวะที่น่าสนใจเทรดแล้วก็ตาม แต่บางครั้งเราอาจจะตัดสินใจไม่ลงมือเทรดครั้งนั้น ๆ ก็ได้ เนื่องจากผลตอบแทนที่จะได้รับไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยง
การตัดสินใจว่าจะลงมือเทรดหรือไม่จะพิจารณา “ความคุ้มค่า” โดยเปรียบเทียบระหว่างกำไรที่คาดว่าจะได้รับในกรณีถ้าการเทรดครั้งนั้นเป็นกำไร (Reward) กับผลขาดทุนที่จะเกิดขึ้น (Risk) ถ้าการเทรดครั้งนั้นผลออกมาเป็นขาดทุน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Reward to Risk Ratio
การคำนวณ Reward หาได้จาก เอาราคาเป้าหมายที่คาดว่าน่าจะไปถึง ลบด้วยราคาที่จะลงมือเทรด
ส่วนการคำนวณ Risk หาได้จาก ราคาที่จะลงมือเทรด ลบด้วยราคาที่จะตัดขาดทุน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราได้สัญญาณเทรดที่น่าสนใจของอนุพันธ์ตัวหนึ่ง แต่ปรากฏว่าลองเปรียบเทียบผลกำไรขาดทุนแล้วพบว่า ถ้าการเทรดครั้งนี้ผลออกมาเป็นกำไรโดยเทียบจากราคาเป้าหมายจะได้กำไรทั้งหมด 20,000 บาท แต่ถ้าผลออกมาเป็นขาดทุนจากราคาตัดขาดทุนจะขาดทุน 50,000 บาท เราก็จะไม่ลงมือเทรดเพราะผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยง (ได้ไม่คุ้มเสีย) ถึงแม้ว่าจะเกิดสัญญาณให้เข้าซื้อทางเทคนิคก็ตาม
แล้ว Reward to Risk Ratio เท่าไหร่ถึงจะเรียกว่าคุ้มค่า????
โดยทั่วไปผมจะแนะนำว่า ถ้าเราไม่เคยวิเคราะห์ข้อมูลการเทรดของเราในอดีต Reward to Risk ควรจะมากกว่า 2 ขึ้นไปถึงจะถือว่าคุ้มค่า แต่ว่าค่านี้ก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จนะครับ เนื่องจากหากอยากวิเคราะห์ให้ละเอียดขึ้นอีก เราควรจะรู้ค่า % Win Ratio ของเราด้วย เพราะถ้าหากใครที่ใช้กลยุทธ์ที่มี %Win Ratio สูง ๆ ค่า Reward to Risk Ratio ก็อาจจะปรับลดลงก็ได้ แต่ที่ผมแนะนำว่าที่ควรจะมากกว่า 2 ขึ้นไป เนื่องจาก โดยทั่วไป % Win Ratio ของคนที่ใช้กลยุทธ์เทรดตามทิศทางของแนวโน้ม (Trend Following) จะอยู่ประมาณ 40% +/- เท่านั้น (เทรด 10 ครั้ง กำไรประมาณ 4 ครั้ง ขาดทุนประมาณ 6 ครั้ง)
ขั้นตอนที่ 2 : กำหนดจำนวนเงินสูงสุดที่จะเสี่ยงขาดทุนในการเทรดแต่ละครั้ง
การลงมือเทรดหุ้นหรืออนุพันธ์แต่ละครั้งควรมีการกำหนดว่าจะเสี่ยงขาดทุนสูงสุดเป็นจำนวนเงินเท่าไร ซึ่งส่วนมากจะกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์เทียบกับจำนวนเงินลงทุนทั้งหมด เช่น ถ้ามีเงินลงทุน 500,000 บาท และถ้าเรากำหนดว่าจะเสี่ยงขาดทุนครั้งละไม่เกิน 2 % ในการเทรดแต่ละครั้งจะต้องขาดทุนไม่เกิน 10,000 บาท เป็นต้น
สำหรับแนวทางที่ใช้ในการหาเปอร์เซ็นของเงินที่จะเสี่ยงสูงสุดจากเงินลงทุนที่มีอยู่ทั้งหมดในการเทรดแต่ละครั้งที่เหมาะสมมีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เช่น
- ถ้าเราพิจารณาด้านความเสี่ยงเป็นหลัก อาจจะใช้วิธีวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อให้เทรดแล้วไม่หมดตัว (Risk of Ruin)
- ถ้าพิจารณาด้านผลตอบแทน อาจจะใช้วิธีหาสัดส่วนที่ทำให้เกิดผลกำไรสูงสุดจากการเทรดต่อเนื่องในระยะยาว (Optimal Fraction หรือ Kelly Criterion) (ลองหาอ่านโดยค้นหาจาก google กันได้ครับ) เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 3 : การจัดสรรเงินทุนที่ต้องใช้ในการเทรดในแต่ละครั้ง
เนื่องจากทุกคนมีเงินสำหรับใช้ในการเทรดจำกัด ดังนั้นจึงต้องมีการจัดสรรเงินทุนสูงสุดในการเทรดแต่ละครั้งด้วยเพื่อให้สามารถกระจายซื้อหุ้นหรืออนุพันธ์ได้หลาย ๆ ตัว (Diversification) สมมติว่าเรามีเงินลงทุน 500,000 บาท และต้องการกระจายความเสี่ยงในการเทรดอนุพันธ์ทั้งหมด 10 ตัว หมายความว่าในการเทรดแต่ละครั้งจะต้องใช้เงินลงทุนไม่เกิน 50,000 บาท
ข้อสังเกต : เงินที่ใช้ในการเทรดแต่ละครั้ง (ในขั้นตอนที่ 3) กับเงินที่เสี่ยงขาดทุนในการเทรดแต่ละครั้ง (ในขั้นตอนที่ 2) ไม่ใช่ตัวเลขเดียวกัน ตัวอย่างข้างต้น ถึงแม้ว่าเราจะใช้เงินในการเทรด 50,000 บาท แต่การเทรดครั้งนั้นถ้าอาจจะไม่ได้เสี่ยงขาดทุนทั้งหมด 50,000 บาทก็ได้ (ดูตัวอย่างในการคำนวณได้ในขั้นตอนที่ 4)
ประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดสรรเงินในการเทรดอีกอย่างหนึ่ง คือ ควรจำกัดเงินลงทุนที่ใช้เทรดหุ้นหรืออนุพันธ์ที่สินค้าอ้างอิงมีทิศทางของราคาไปในทางเดียวกัน (Correlation) เพราะ ถือว่าไม่เป็นการกระจายความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในทองคำ โลหะเงิน แพลทินัม พร้อม ๆ กันไม่ถือว่าเป็นการกระจายความเสี่ยง เนื่องจากเป็นโลหะมีค่าเหมือนกันราคามักจะเคลื่อนที่ขึ้นลงเหมือนกัน หรือซื้อหุ้น PTT PTTEP TOP BCP PTTGC พร้อม ๆ กันก็ไม่ถือว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงเพราะราคาหุ้นมีแนวโน้มที่จะขึ้นหรือลงเหมือน ๆ กันตามราคาน้ำมัน เป็นต้น
เทคนิคส่วนตัวเวลาผมแบ่งเงินที่ใช้ในการเทรดแต่ละครั้งให้ไม่เกิน 10-15% ของเงินที่มีทั้งหมด โดยสามารถลงทุนในหุ้นหรืออนุพันธ์พร้อม ๆ กันได้มากที่สุดประมาณ 8-10 ตัว (กระจายโอกาส)
ขั้นตอนที่ 4 : คำนวณจำนวนหุ้นหรือจำนวนสัญญาที่จะเทรดในแต่ละครั้ง
หลังจากผ่านขั้นตอนที่ 2 และ 3 เราจะได้เงื่อนไขของการบริหารเงินลงทุนก่อนตัดสินใจลงมือเทรด 2 เงื่อนไข คือ
- จำนวนเงินที่จะเสี่ยงขาดทุนสูงสุดในแต่ละครั้ง
- จำนวนเงินสูงสุดที่จะใช้ในการลงทุนแต่ละครั้ง
ขั้นตอนต่อมาก็คำนวณจำนวนหุ้นหรือจำนวนสัญญาของอนุพันธ์ที่จะเทรดในแต่ละครั้ง ที่จะเทรดในแต่ละครั้งได้โดย
- คำนวณจำนวนหุ้นหรือจำนวนสัญญาสูงสุดที่จะเทรดในแต่ละครั้งจากเงื่อนไขแรก โดยนำจำนวนเงินที่จะเสี่ยงขาดทุนสูงสุดในแต่ละครั้งหารด้วยจำนวนที่คาดว่าจะขาดทุนต่อหุ้นหรือต่อ 1 สัญญา
- คำนวณจำนวนหุ้นหรือจำนวนสัญญาสูงสุดที่จะเทรดในแต่ละครั้งจากเงื่อนไขที่สอง โดยคำนวณจากจำนวนเงินที่จะใช้ในการลงทุนสูงสุดในแต่ละครั้งหารด้วยเงินที่ต้องใช้ในการเทรด 1 หุ้นหรือ 1 สัญญา
จากนั้นนำค่าที่คำนวณได้จากทั้ง 2 เงื่อนไขมาเปรียบเทียบกัน และตัดสินใจเทรดตามจำนวนที่น้อยกว่า
ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีเงินลงทุน 500,000 บาท จะเสี่ยงขาดทุนครั้งละไม่เกิน 2% และจะใช้เงินในการเทรดแต่ละครั้งไม่เกิน 15% ปัจจุบันกำลังสนใจซื้อหุ้นตัวหนึ่งที่ราคาปัจจุบัน 80.00 บาท เราคำนวณจุดที่จะตัดขาดทุนได้ที่ 76.50 บาท เราควรจะซื้อหุ้นครั้งนี้กี่หุ้น?
เงื่อนไขที่ 1 พิจาณาจากเงินที่จะเสี่ยงขาดทุนสูงสุดในแต่ละครั้ง
เสี่ยงจะขาดทุนครั้งละไม่เกิน 2% ของเงินลงทุน 500,000 บาท = 10,000 บาท
ถ้าผลการเทรดครั้งนี้ออกมาเป็นขาดทุน เราจะขาดทุนอยู่ที่
ราคาตัดขาดทุน – ราคาต้นทุน คือ 76.50 – 80.00 = -3.50 บาท ต่อหุ้น
แต่เราไม่ต้องการเสี่ยงที่จะขาดทุนเกินครั้งละ 10,000 บาท ดังนั้นเราซื้อหุ้นได้ทั้งหมดไม่เกิน 10,000 / 3.50 = 2,857 หุ้น
เงื่อนไขที่ 2 พิจารณาจากเงินที่จะใช้ในการเทรดสูงสุดในแต่ละครั้ง
ใช้เงินซื้อหุ้นครั้งละไม่เกิน 15% ของ 500,000 บาท = 50,000 บาท
เงิน 50,000 บาท สามารถซื้อหุ้นที่ราคาหุ้นละ 80.00 บาทได้ทั้งหมด (จำนวนเงินที่จะซื้อหุ้น / ราคาหุ้น) คือ 75,000 / 80.00 = 937 หุ้น
สรุปจำนวนหุ้นที่จะเทรดในครั้งนี้ : จากทั้ง 2 เงื่อนไขรวมกันสรุปได้ว่าเราสามารถซื้อหุ้นทั้งหมด 900 หุ้น (หน่วยที่เล็กที่สุดที่จะเทรดได้ใน SET = 100 หุ้น ) โดยติดเงื่อนไขที่ 2 เรื่องเงินที่ใช้ในการเทรดสูงสุดในแต่ละครั้ง โดยจะใช้เงินซื้อหุ้นทั้งหมด 900 x 80.00 = 72,000 บาท และมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนในการเทรดหุ้นครั้งนี้ คือ = 900 x 3.50 = 3,150 บาท
สรุป
ผมหวังว่าเพื่อน ๆ บทความนี้จะให้มุมมอง และภาพกว้าง ๆ เกี่ยวกับ Money Management ว่ามีความสำคัญอย่างไร โดยผมได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ประเด็นสำคัญของ Money Management ที่มา และวัตถุประสงค์ของ Money Management และขั้นตอนในการทำ Money management ซึ่งจะทำให้เห็นว่าเวลาตัดสินใจลงมือเทรดหุ้นหรืออนุพันธ์ในแต่ละครั้งมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ นักลงทุนไม่มากก็น้อย เพื่อน ๆ ที่สนใจแนวทางการวิเคราะห์ทางเทคนิค สามารถติตผลงานได้ทาง Facebook ของ DaddyTrader นะครับ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ :