เรื่องน่ารู้

บล็อกเชนคืออะไร? พร้อมตัวอย่างการนำมาใช้และอนาคตของ Blockchain

blockchain

ลองจินตนาการว่า จะเป็นอย่างไร? ถ้าหาก…

ธนาคารกลางไม่มีอยู่จริง เงินทุกสกุลเป็นดิจิทัล

สินค้าทุกชิ้นมีรหัสติดตาม ตรวจสอบที่มา และ ปลายทางได้

ข้อมูลสุขภาพของคุณปลอดภัย แชร์ข้อมูลกับแพทย์ได้อย่างสะดวก

และ ที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็นจริงได้ หากนี่คือโลกที่ขับเคลื่อนด้วย บล็อกเชน (Blockchain)

จากกระแสของสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่มีราคาพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้เทคโนโลยี Blcokchain กลายมาเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ในบทความนี้เราจะชวนคุณมาทำความรู้จักกับ Blockchain กันให้มากขึ้นว่า บล็อกเชนคืออะไร รวมไปถึงตัวอย่างการนำมาใช้และอนาคตของ Blockchain ไปหาคำตอบกันได้ในบทความนี้เลย

Blockchain คืออะไร?

Blockchain หรือ บล็อกเชน คือ เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ เปรียบเสมือนสมุดบัญชีดิจิทัลที่บันทึกธุรกรรมต่างๆ และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายบนคอมพิวเตอร์ทั่วโลก โดยข้อมูลที่บันทึกนี้จะถูกส่งต่อไปยังทุกๆ คนในเครือข่าย นอกจากนี้ ข้อมูลบน Blockchain ยังมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้กลายเป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูง และปัจจุบันนี้ยังกำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากทั้งภาครัฐ ธุรกิจ และประชาชนทั่วไป

องค์ประกอบหลักของ Blockchain

1. ความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed ledger technology)

การจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ คือ การที่ผู้เข้าร่วมทั้งหมดในเครือข่ายสามารถเข้าถึงบัญชีแยกประจำแบบกระจายศูนย์และสามารถบันทึกธุรกรรมที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยบัญชีแยกประจำนี้ โดยธุรกรรมจะถูกบันทึกเพียงครั้งเดียว ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดความซ้ำซ้อนของกระบวนการที่มักเกิดขึ้นในเครือข่ายธุรกิจแบบดั้งเดิม

เช่น ไฟล์ที่ใช้ร่วมกันในเครือข่ายซึ่งทุกคนในเครือข่ายสามารถแก้ไขได้ และในตัวแก้ไขข้อความที่ใช้ร่วมกันส่วนใหญ่ทุกคนที่มีสิทธิ์แก้ไขสามารถลบไฟล์ทั้งหมดได้ อย่างไรก็ตาม ในเครือข่ายอาจจะมีการตั้งเกณฑ์หรือข้อจำกัดในการแก้ไขข้อมูลที่เข้มงวดว่าใครที่สามารถแก้ไขได้หรือสามารถแก้ไขได้อย่างไร เป็นต้น

2. บันทึกที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (Immutable records)

เป็นคุณสมบัติด้านความปลอดภัยเพื่อระบุผู้เข้าร่วมในเครือข่ายบล็อกเชนโดยเฉพาะ คือ การที่ไม่มีผู้เข้าร่วมใดสามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขธุรกรรมหลังจากบันทึกไปยังบัญชีแยกประจำที่แชร์ กลไกนี้จะสร้างคีย์สองชุดสำหรับสมาชิกเครือข่าย คีย์ชุดหนึ่งคือคีย์สาธารณะที่ทุกคนในเครือข่ายใช้ร่วมกัน และอีกชุดหนึ่งเป็นคีย์ส่วนตัวที่ไม่ซ้ำกันสำหรับสมาชิกทุกคน ทั้งนี้คีย์ส่วนตัวและสาธารณะจะทำงานร่วมกันเพื่อปลดล็อกข้อมูลในบัญชีแยกประเภท

กล่าวคือ ถ้าบันทึกธุรกรรมมีข้อผิดพลาด จำเป็นจะต้องเพิ่มธุรกรรมใหม่เพื่อย้อนกลับข้อผิดพลาด และทั้งสองธุรกรรมจะปรากฏให้สมาชิกในเครือข่ายเห็นนั่นเอง

3. สัญญาอัจฉริยะ (Smart contracts)

เพื่อให้การทำธุรกรรมมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงมีกฎชุดหนึ่งที่เรียกว่า สัญญาอัจฉริยะ เป็นโปรแกรมที่จัดเก็บไว้ในระบบบล็อกเชนที่ทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะเรียกใช้การตรวจสอบเงื่อนไข if-then เพื่อให้ธุรกรรมเสร็จสมบูรณ์ได้

การทำงานของ Blockchain

post-1-image-2

การทำงานของ Blockchain ประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่

1. เมื่อมีธุรกรรมเกิดขึ้น ข้อมูลธุรกรรมจะถูกบรรจุในบล็อกใหม่

2. บล็อกใหม่จะถูกส่งไปยังคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในเครือข่าย

3. คอมพิวเตอร์ในเครือข่ายจะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลธุรกรรม

4. หากข้อมูลธุรกรรมถูกต้อง บล็อกใหม่จะถูกเพิ่มไปยัง Blockchain

5. ธุรกรรมจะเสร็จสมบูรณ์

กล่าวคือ เมื่อมีธุรกรรมเกิดขึ้นในฐานข้อมูลแบบกระจาย ทุกคนที่อยู่ในสายโซ่เดียวกัน (Chain) แต่ละคนก็จะมีการบันทึกข้อมูลลงในบล็อกที่มีการเข้ารหัสไว้พร้อม ๆ กันในฐานข้อมูลของแต่ละคน บล็อกใหม่จะถูกส่งไปยังคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในเครือข่าย ซึ่งในแต่ละเครือข่ายจะมีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลธุรกรรม เมื่อข้อมูลธุรกรรมได้รับการยืนยันว่ามีความถูกต้อง บล็อกใหม่ก็จะถูกเพิ่มไปยัง Blockchain จากนั้นการทำธุรกรรมก็จะถือว่าเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งด้วยกลไกนี้เองทำให้เทคโนโลยีบล็อกเชน มีความปลอดภัยและมีความน่าเชื่อถือสูง

ตัวอย่างการใช้ Blockchain กับธุรกิจ

post-1-image-3

หลังจากที่ได้รู้กันแล้วว่า Blockchain คืออะไร และมีการทำงานอย่างไร ในพาร์ทนี้เราจะชวนมาดูตัวอย่างการนำ Blockchain มาใช้กับธุรกิจกัน

ในปัจจุบัน Blockchain ถูกใช้งานในหลายอุตสาหกรรม ด้วยคุณสมบัติที่สามารถจัดเก็บและเชื่อมโยง ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ สำหรับตัวอย่างธุรกิจที่เริ่มนำ Blockchain มาใช้งาน เช่น

  • การเงิน: ใช้สำหรับการทำธุรกรรมโอนเงิน, การชำระเงิน, การเทรดหรือจะเป็นการออกสกุลเงินดิจิทัล เช่น Bitcoin, Ethereum เป็นต้น

  • การค้า: ใช้สำหรับการติดตามสินค้าอย่างการเคลื่อนไหวของสินค้าระหว่างซัพพลายเออร์และผู้ซื้อ, ตรวจสอบที่มาของสินค้า เพื่อป้องกันสินค้าปลอม เป็นต้น

  • การบริการสุขภาพ: ใช้สำหรับจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วย หรือแชร์ข้อมูลผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล ผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายประวัติคนไข้ ทำให้การส่งต่อการรักษา (Refer) สะดวกมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

  • ภาครัฐ: ใช้สำหรับออกเอกสารสำคัญ หรือ ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น

  • อื่นๆ: การจัดการลิขสิทธิ์เพลง, การติดตามการโหวต หรือ การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น

* Ethereum หรือ เหรียญอีเธอเรียม คือ ชื่อของเครือข่ายบล็อกเชนที่เราสามารถเขียนโปรแกรมได้

* Bitcoin หรือ บิทคอยน์ คือ สกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) แบบกระจายอำนาจที่ใช้สำหรับการทำธุรกรรมที่เข้ารหัสโดยไม่จำเป็นต้องมีธนาคารกลาง

ข้อดีและข้อเสียของ Blockchain

ข้อดีของ Blockchain

  • ความปลอดภัย: ข้อมูลบนบล็อกเชนมีความปลอดภัยสูง ยากต่อการถูกแฮ็ก โดยบล็อกเชนใช้หลักสามประการของการเข้ารหัส การกระจายศูนย์ และสัญญาอัจฉริยะ (Smart contracts) เพื่อสร้างระบบซอฟต์แวร์พื้นฐานที่มีความปลอดภัยสูง ซึ่งยากที่จะถูกดัดแปลงแก้ไข

  • ความโปร่งใส: ข้อมูลบนบล็อกเชนเป็นสาธารณะ ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ เพราะบันทึกบล็อกเชนนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามลำดับเวลา หมายความว่าระบบจะเรียงลำดับบันทึกทั้งหมดตามเวลาเสมอ ทำให้การทำธุรกรรมมีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้

  • ความมีประสิทธิภาพ: ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะการทำธุรกรรมระหว่างหน่วยธุรกิจอาจใช้เวลานานและอาจเกิดปัญหางานค้างหรืองานไปกองในส่วนใดส่วนหนึ่งได้ แต่บนบล็อกเชนการทำธุรกรรมดังกล่าวจะมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  • ความน่าเชื่อถือ: ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกรรม

  • การกระจายอำนาจ: บล็อกเชนไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

  • สามารถประยุกต์ได้หลากหลาย: เช่น การออกเอกสารอิเล็กทรอนิกส์เพื่อไม่ให้สามารถปลอมแปลงได้

ข้อเสียของ Blockchain

  • ความซับซ้อน: เทคโนโลยีบล็อกเชนยังมีความซับซ้อน เข้าใจยาก

  • การใช้พลังงาน: การประมวลผลธุรกรรมบนบล็อกเชนใช้พลังงานสูง

  • กฎหมาย: ยังไม่มีกฎหมายรองรับการใช้งานอย่างชัดเจน

  • ความยืดหยุ่น: การแก้ไขข้อมูลบนบล็อกเชนทำได้ยาก

อนาคตของ Blockchain จะเป็นอย่างไร?

เทคโนโลยี Blockchain มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงโลกในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเงิน, การค้า, การบริการสุขภาพ, ภาครัฐ ฯลฯ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าในอนาคต Blockchain จะถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น

สรุป

Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงที่จะเปลี่ยนแปลงโลกในอนาคต โดยนำมาซึ่งโอกาสทั้งในด้านของการลดระยะเวลาและต้นทุน ไปจนถึงการทำการตลาด และในปัจจุบันก็ได้มีหลายธุรกิจที่ได้นำเอาเทคโนโลยีนี้เข้ามาปรับใช้ ที่สำคัญ บล็อกเชนยังเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่นำเสนอวิธีการจัดเก็บข้อมูลและดำเนินธุรกรรมที่มีความปลอดภัย โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ โดยบล็อกเชนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้จริงทั้งธุรกิจที่เป็น Corporate หรือ Startup เองก็สามารถนำบล็อกเชนเข้ามาปรับใช้ในการพัฒนา Product หรือ Service ที่มีได้ และนี่จึงกลายเป็นอนาคตที่น่าจับตามองของ Blockchain ที่เรายังคงต้องคอยจับตาดูกันต่อไป

ผู้เขียน Wirinda Lupsa

ทำไมต้องเลือก Exness ?

Related Articles

Back to top button