Recession คืออะไร ? : การเทรด Forex ในช่วง Recession
Table of Contents
ภาวะ Recession คืออะไร? ส่งผลต่อตลาดเงิน และ ตลาดทุนอย่างไร? นักลงทุน และ เทรดเดอร์ควรเตรียมรับมืออย่างไร? ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? และ จะยังคงอยู่ไปนานเท่าไหร่? บทความนี้จะนำคุณไปค้นหาคำตอบทั้งหมด
Recession คืออะไร?
Recession หรือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย คือ การหดตัวของวัฏจักรธุรกิจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างเห็นได้ชัด ภาวะดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อทั้งประเทศ และกลุ่มประเทศ ผลผลิตทางเศรษฐกิจ ความต้องการของผู้บริโภค และการจ้างงาน
การเกิด Recession สามารถสังเกตได้จากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ 5 ประการ คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP), รายได้, การจ้างงาน, การผลิต และยอดค้าปลีก โดยการตกต่ำนี้ค่อนข้างยืดเยื้อ หน่วยงานด้านสถิติให้ข้อมูลว่า ในช่วงดังกล่าว GDP มักจะลดลงติดต่อกันถึง 2 ไตรมาส แต่หากนานกว่า 4 ไตรมาส อาจหมายถึงการที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะตกต่ำ
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นหนึ่งในวัฏจักรเศรษฐกิจที่ทั่วโลกต้องเผชิญ นั่นหมายความว่า เราไม่อาจหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าว แต่สามารถทำให้มันชะลอความรุนแรงได้ ซึ่งโดยปกติแล้ว ภาวะถดถอยนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเฉลี่ยทุก ๆ 7-9 ปี อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังมานี้ ภาวะถดถอยเกิดขึ้นน้อยลง และกินระยะเวลาไม่นานนัก
สาเหตุที่ทำให้เกิด Recession
Recession มีสาเหตุมาจากการหดตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์จำนวนมากต่างพยายามไขปัญหาว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย กระนั้น ทฤษฎีต่าง ๆ เหล่านี้ก็ยังไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนได้ แต่สามารถจัดประเภทได้อย่างกว้าง ๆ ดังนี้
1) การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องทำให้ต้นทุนทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นจนนำไปสู่ภาวะถดถอย หรือ ภาวะช็อกทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ที่ไม่คาดฝันอันส่งผลให้เกิดความทุกข์ทางการเงินอย่างร้ายแรง ตัวอย่างเช่น การระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันนี้ทำให้ผู้บริโภค นักลงทุน หรือ แม้แต่นักธุรกิจเตรียมรับมือไม่ทันจนต้องเกิดการกู้หนี้ยืมสิน เพราะรายได้ลดลงขณะที่หนี้สินเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่ปัญหาทางการเงิน และส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด
2) วิกฤติการเงิน
การเกิด Recession ในอดีต สาเหตุร่วมส่วนมาก คือ การเติบโตของสินเชื่อ และการสะสมของความเสี่ยงทางการเงินในช่วงที่เศรษฐกิจดี จากนั้นค่อย ๆ หดตัวลงเมื่อเศรษฐกิจถดถอย การเก็งกำไรสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่สูงเกินมูลค่าจริงทำให้เกิดการเทขายในช่วงเศรษฐกิจถดถอยจนเกิดภาวะฟองสบู่ และการเกิดเงินเฟ้อ หรือ เงินฝืดที่มากจนเกินไป เป็นต้น
ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ภาวะการเงินของประเทศมักจะอยู่ในความระส่ำระส่าย เมื่อประกอบกับวิกฤติการเงินที่พวกเขาต้องเผชิญ ทำให้หลายคนตื่นตระหนกในอุตสาหกรรมธนาคาร พวกเขาเชื่อว่าธนาคารอาจล้มจนเกิดการแห่ถอนเงิน (Bank Run) ทำให้ระบบการเงินภายในประเทศเสียสมดุล
การคาดการณ์ Recession
การคาดการณ์ Recesion ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำนายได้อย่างแม่นยำ เพราะทิศทางของเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ดี สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Bureau of Economic Research: NBER) ได้ทำการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากสัญญาณ ดังต่อไปนี้
1. เส้นอัตราผลตอบแทนกลับด้าน
เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ที่แสดงอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยปกติ Yield Curve ของพันธบัตรระยะยาวมักจะมีการปรับตัวสูงขึ้น แต่หาก Yield Curve ระยะยาวต่ำกว่า Yield Curve ระยะสั้น นั่นหมายความว่า เกิดการผกผัน (Inverted Yield Curve) ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่ง เพราะนักลงทุนกำลังแสดงความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจ
2. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง
หากการสำรวจพบว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงอย่างต่อเนื่อง แสดงว่าผู้บริโภคกำลังวิตกกังวล และไม่มั่นใจในเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น ๆ จนไม่กล้าที่จะใช้จ่าย ดังนั้น เมื่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจลดลง เศรษฐกิจจึงเข้าสู่ภาวะชะลอตัว
3. การลดลงของ Leading Economic Index (LEI)
Leading Economic Index เป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ถูกจัดทำโดย The Conference Board เพื่อคาดการณ์กิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งหากดัชนีดังกล่าวมีการปรับตัวลดลงก็อาจเป็นสัญญาณว่า เศรษฐกิจกำลังมีปัจจัยลบ
4. อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น
อัตราการว่างงาน ถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่มักจะได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ดังนั้น หากอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ย่อมหมายความว่า เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว และอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยต่อไป
5. การปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นอย่างกะทันหัน
การปรับตัวของตลาดหุ้นที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันย่อมเป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่ง เพราะนั่นหมายความว่า นักลงทุนกำลังเทขายหุ้นเป็นจำนวนมากจากความวิตกกังวลทางเศรษฐกิจจนส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น
สัญญาณข้างต้นนี้เป็นเพียงสิ่งที่ใช้คาดการณ์ในเบื้องต้นของ NBER เท่านั้น ไม่อาจคาดการณ์เศรษฐกิจได้อย่างแม่นยำเสมอไป เนื่องจากเศรษฐกิจแต่ละช่วงย่อมมีปัจจัยกดดัน และสนับสนุนแตกต่างกัน ดังนั้น ตัวชี้วัดเหล่านี้ก็อาจใช้ไม่ได้ผลเช่นกัน
ผลกระทบจาก Recesion ต่อสินทรัพย์ต่าง ๆ
เมื่อเกิด Recession จะส่งผลต่อหลายภาคส่วน ซึ่งหนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ คือ ตลาดเงิน และตลาดทุน โดยสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบมีดังนี้
Forex
สำหรับตลาดแลกเปลี่ยนค่าเงินที่เทรดเดอร์สามารถทำกำไรจากความเคลื่อนไหวของคู่เงินหนึ่ง ๆ ได้ เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยกับประเทศใดประเทศหนึ่ง ประเทศคู่ตรงข้ามย่อมไม่ได้รับผลกระทบ หรือ ได้รับไม่มากนัก ดังนั้น เทรดเดอร์จึงสามารถเปิดสถานะเพื่อทำการซื้อ และ ขายสกุลเงินของประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้นซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศที่เศรษฐกิจกำลังประสบกับภาวะถดถอยอย่างหนัก
หุ้น
ตลาดหุ้น ถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน ทั้งจากกลุ่มผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้บริโภค ซึ่งหากเกิดเศรษฐกิจถดถอย นักลงทุนส่วนมากก็จะเทขายหุ้นไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม หุ้นก็มีทั้งที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ และ หุ้นตั้งรับที่สามารถอยู่รอดได้แม้จะเกิดวิกฤติ
ทองคำ
ทองคำ ถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัยที่นักลงทุนส่วนมากแนะนำ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ช่วยกักเก็บมูลค่า ดังนั้น ในช่วงที่เกิดเศรษฐกิจถดถอย ทองคำจึงกลายเป็นทางเลือกที่นักลงทุนส่วนใหญ่เลือกใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการลงทุน
สินค้าโภคภัณฑ์
สินค้าโภคภัณฑ์เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการแปรรูปต่าง ๆ ดังนั้น หากเศรษฐกิจไม่ดี การบริโภคก็จะลดลง ซึ่งส่งผลต่อการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะผลผลิตทางเกษตร และอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่สินค้าโภคภัณฑ์ทุกประเภทที่จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากสินค้าบางประเภทก็ยังคงได้รับความต้องการอยู่แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤติ ซึ่งส่วนมากจะเป็นสินค้าที่เป็นโลหะมีค่า
พันธบัตร
พันธบัตรรัฐบาล เป็นอีกสินทรัพย์ปลอดภัยที่ได้รับความนิยม เพราะได้รับผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอน และมีความเสี่ยงต่ำ ดังนั้น ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ราคาพันธบัตรรัฐบาลจึงเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ นักลงทุนต้องพิจารณาถึงอัตราผลตอบแทนของพันธบัตร และความสัมพันธ์กับอัตราดอกเบี้ยด้วย
การเทรด Forex ในช่วง Recesion
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การเทรด Forex เป็นการทำกำไรจากความเคลื่อนไหวของค่าเงิน ซึ่งสามารถเปิดสถานะการซื้อขายได้ทั้งตลาดขาขึ้น และขาลง ดังนั้น ในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เทรดเดอร์จึงสามารถเทรด Forex ได้ตามปกติ เพราะความผันผวนของค่าเงินย่อมสร้างกำไรให้แก่เทรดเดอร์
อย่างไรก็ตาม หากต้องการทำกำไรในช่วงตลาดผันผวน เทรดเดอร์จำเป็นต้องมีทั้งความรู้ ประสบการณ์ ตลอดจนต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งหากคุณไม่พร้อมด้วยปัจจัยเหล่านี้ การเลือกคู่เงินที่มีความผันผวนไม่มากนัก หรือ การถอนตัวออกจากตลาดชั่วคราวอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เพราะแม้แต่เทรดเดอร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ ดังนั้น การยอมรับความเสี่ยง และสถานการณ์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่เทรดเดอร์จำเป็นต้องระลึกถึงอยู่เสมอ
สำหรับสกุลเงินที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และ สกุลเงินที่สามารถทำผลงานได้ดี แม้อยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย มีดังนี้
สกุลเงินที่ได้รับผลกระทบในช่วง Recesion
การซื้อขาย Exotic Currency Pairs และ Cross Currency Pairs มักถูกพิจารณาว่าเป็นคู่สกุลเงินที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วงเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากสกุลเงินเหล่านี้มีบทบาทน้อยมากในระบบการเงินโลก และ มักมีแนวโน้มที่จะเกิดความผันผวนของราคาอย่างรุนแรงในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจถดถอย
สกุลเงินที่ทำผลงานได้ดีในช่วง Recesion
สกุลเงินของประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง หรือ คู่สกุลเงินหลัก มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นในช่วงเศรษฐกิจถดถอย เพราะค่าเงินของประเทศเหล่านั้นมีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับที่สูง และ หากพิจารณาร่วมกับความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และ การเงินก็จะทำให้ค่าเงินของประเทศเหล่านั้นมีโอกาสที่จะได้รับความนิยมสูงขึ้น
สรุป
โดยสรุป Recesion คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนทั้งภายในประเทศ และ กลุ่มประเทศ ดังนั้น ในช่วงสภาวะดังกล่าว นักลงทุนจำนวนมากจึงพยายามหลีกเลี่ยงสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ
อย่างไรก็ตาม การเทรด Forex ในช่วงดังกล่าวก็ยังสามารถทำได้ เพียงแต่ต้องมีการติดตามข่าวสารต่าง ๆ เพื่อหาสัญญาณการซื้อขาย การเปิดสถานะการซื้อขายแบบแบ่งออเดอร์ หรือ แบ่งไม้ การตั้งคำสั่งซื้อขายล่วงหน้า และ การกำหนดจุดตัดขาดทุน (Stop Loss) ตลอดจนวางแผนการเทรด การจัดการความเสี่ยง และ การบริหารจัดการเงินให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ :
RSI คืออะไร? พร้อมวิธีวิเคราะห์ และ หาแนวโน้มราคาหุ้น ตัวชี้วัดที่นักลงทุนควรรู้จัก